การกำกับดูแลกิจการ
"ทรีนีตี้" ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ในการส่งเสริม และให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อให้บริษัทดำเนินงานอย่างโปร่งใส มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญเติบโตของกิจการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาวต่อไป
1. นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
บริษัทฯ ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการในการส่งเสริม และให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลให้บริษัทมีการดำเนินงานที่โปร่งใส มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญเติบโต และเพิ่มคุณค่า และมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาวโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีการปฎิบัติตาม "ข้อบังคับของบริษัท" โดยได้กำหนด "นโยบายการกำกับดูแลกิจการ" ซึ่งได้มีการประกาศให้พนักงานได้รับทราบและ ถือปฏิบัติ โดยนโยบายนี้ คณะกรรมการได้มีการพิจารณาทบทวนเป็นระยะๆ และมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับภาวการณ์ในแต่ละขณะ ทั้งนี้นอกจากการวางระบบงานที่ดี มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้แล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง โดยได้แบ่งประเภทความเสี่ยงในด้านต่างๆ และได้จัดระบบงาน และรายงานที่กรรมการ และผู้บริหารจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีการรายงานอย่างสม่ำเสมอสามารถตรวจสอบ และติดตามได้มีระบบเตือนความเสี่ยงหากเกินเกณฑ์ที่กำหนด และมีมาตรการ แผนงาน กระบวนการตัดสินใจในการรองรับหากเกิดความเสี่ยงที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
นอกจากนี้ บริษัทได้ถ่ายทอด และส่งต่อแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปยังพนักงาน โดยแสดงออกในค่านิยมขององค์กร ซึ่งพนักงานจะถูกปลูกฝัง และรับทราบความสำคัญในการมีจรรยาบรรณที่ดีในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่เริ่มงาน หรือ วันปฐมนิเทศ นอกจากนี้ เพื่อให้พนักงานตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ อย่างจริงจัง บริษัทได้กำหนด เรื่องของความรู้ ความเข้าใจ การปฏิบัติตาม และการเป็นแบบอย่างที่ดี ในเรื่องของจรรยาบรรณ ไว้ เป็นหัวข้อหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานประจำปี และในการประเมินงานเชิงคุณภาพของผู้แนะนำผู้ลงทุน จากการให้ความสำคัญ ของการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างยิ่งยวด ในปี 2558 บริษัทได้รับการจัดอันดับ ประเภทดีมาก (Very Good) สำหรับรายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ( IOD) และ บริษัทฯ ได้รับรางวัลบริษัทหลักทรัพย์ดีเด่นด้านการให้บริการหลักทรัพย์แก่นักลงทุนบุคคล จากงาน SET AWARDS 2015 ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และวารสารการเงินการธนาคาร
2. คณะกรรมการชุดย่อย
คณะกรรมการบริษัทมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อย ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน เพื่อช่วยพิจารณาและกลั่นกรองงานเฉพาะด้านที่สำคัญ รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการอื่นๆ เพื่อดูแลสายงานในแต่ละด้าน รายละเอียดกรรมการและบทบาทหน้าที่แต่ละคณะมีดังนี้
ก) คณะกรรมการชุดย่อยของ บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน)ข) คณะกรรมการชุดย่อยของ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
ค) คณะกรรมการปฎิบัติการอื่นๆ
3. การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง
คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายหน้าที่ในการสรรหากรรมการของบริษัท และบริษัทย่อย รวมทั้งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง อันได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการของบริษัทและบริษัทในกลุ่ม ให้แก่คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ และดำเนินการสรรหา เมื่อตำแหน่งนั้นครบวาระหรือว่างลง ตาม "ขั้นตอนสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง"
4. การกำกับดูแลดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม
บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจในลักษณะของ Holding Company ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด บริษัท ทรีนีตี้ แอ๊ดไวซอรี่ 2001 จำกัด บริษัท ทรีนีตี้ อินเทลลิเจนส์ พลัส จำกัด และบริษัท ทรีนีตี้ วัน จำกัด และมีเงินลงทุนในบริษัทร่วมได้แก่ บริษัท แอสเซท แบค โฮลดิ้งส์ จำกัด โดยลงทุนในอัตราร้อยละ 49.95 และบริษัท แอสเซท แบค โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้ลงทุนในบริษัทย่อยคือบริษัท คอนดูอิท แมนเนจเมนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งรับจ้างบริหารจัดการนิติบุคคลเฉพาะกิจ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 100 ในการบริหารงานของบริษัทย่อย บริษัทจะควบคุมดูแลโดยจะส่งกรรมการตัวแทนเข้าไปเป็นตัวแทนในบริษัทย่อยและ หากบริษัทย่อยมีการดำเนินธุรกิจที่กระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทย่อยจะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทก่อน เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ใดที่ไม่อยู่ในหลักทรัพย์หรือกรอบที่อนุมัติให้ลงทุน เป็นต้น รวมทั้งนโยบายหลักที่บริษัทย่อยในกลุ่มนำไปปฏิบัติจะต้องได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการของบริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) สำหรับ บริษัทร่วม บริษัทจะมีการมอบหมายผู้บริหารของบริษัทเข้าเป็นกรรมการของบริษัทร่วม เพื่อร่วมกำหนดนโยบาย และดูแลการบริหารงานในบริษัทร่วม กรณีที่มีการทำรายการระหว่างบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม กับบุคคลที่เกี่ยวโยง เช่น การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่สำคัญ หรือ กรณีที่ต้องมีการลงมติหรือใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องสำคัญในระดับเดียวกับที่ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ตัวแทนของบริษัทต้องนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัทก่อน และให้มีการเปิดเผยข้อมูลและจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการบันทึกบัญชีตามเกณฑ์การจัดทำงบการเงินรวมให้ทันกำหนดเวลา
5. การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน
กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยจะต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดในคู่มือการปฎิบัติงาน (Compliance Manual) อย่างเคร่งครัด ซึ่งมีการกำหนดระเบียบปฎิบัติต่างๆ ได้แก่ จรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจของบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน การซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงาน โดยบริษัทได้กำหนดแยวทาง "การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน" เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบริษัท และการรักษาความลับของลูกค้าไว้
6. ค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี
1) ค่าตอบแทนจากการสอบบัญชี (Audit Fee) บริษัทและบริษัทย่อยจ่ายค่าตอบแทนการสอบบัญชีให้แก่สำนักงานสอบบัญชีที่ผู้สอบบัญชีสังกัดในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา (2561) มีจำนวนเงินรวม 1,650,000 บาท
2) ค่าบริการอื่น (Non - Audit Fee) บริษัทและบริษัทย่อยไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนของงานบริการอื่นใดให้แก่ผู้สอบบัญชีหรือสำนักงานสอบบัญชีที่ผู้สอบบัญชีสังกัดรวมทั้งไม่มีการตกลงในบริการอื่นใดที่ยังให้บริการไม่แล้วเสร็จในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา